เขมรในไทย
ผศ.ดร. กังวล คัชชิมา[1]
ประวัติศาสตร์และอารยธรรมของไทยกับเขมร มีร่วมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปี และมีความใกล้ชิดกันมากกว่าประเทศอื่นใดที่อยู่ใกล้เคียง การถ่ายทอดทางวัฒนธรรมระหว่างกัน ปรากฏให้เห็นในหลายๆ ด้าน เช่น ขนบประเพณี ความเชื่อ ศิลปะ และที่ดูเหมือนว่าจะเด่นชัดที่สุด วิเคราะห์ง่ายที่สุดคือ ภาษา เพราะลักษณะคำของแต่ละภาษามีความแตกต่างกัน มีหลักฐานคำเขมรที่ปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก และปรากฏคำไทยอยู่ในภาษาเขมรเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะถ่ายทอดไปมาระหว่างกันไม่ได้เลย ถ้าปราศจากผู้คนที่ถือและใช้สิ่งเหล่านั้นช่วยเป็นสื่อถ่ายทอดให้ ดังนั้นเพื่อจะให้เข้าใจถึงกระบวนการถ่ายทอดดังกล่าว เราจึงควรศึกษาถึงความเป็นมาและความเป็นไปของกลุ่มชนในอดีตว่ามีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร
ในบทความนี้จะแยกบรรยายเป็น ๒ ส่วนคือ คนเขมรที่อยู่ในไทยในอดีต กับ คนไทยที่ถือวัฒนธรรมเขมรในปัจจุบัน ทั้ง ๒ ส่วนนี้มีบทบาทหรือมีส่วนร่วมอย่างไรในประวัติศาสตร์ไทย
1. เขมรในไทยในพงศาวดาร
คนที่ถือวัฒนธรรมเขมร จะอยู่ในแผ่นดินภาคกลางของไทยในปัจจุบันตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏ หลักฐานที่เหลืออยู่ทั้งด้านศิลาจารึก ศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมที่พอจะให้คนภายหลังได้รับรู้คือ บริเวณเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ปรากฏตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ และบริเวณเมืองลพบุรีตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๕ สถาปัตยกรรมปราสาทเมืองสิงห์ จังหวัดกาญจนบุรี วัดมหาธาตุจังหวัดราชบุรี เลยไปจนถึงจังหวัดเพชรบุรี อาจรวมไปถึงพระพุทธรูปนาคปรกที่วัดหัวเวียง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีฐานจารึกเป็นภาษาเขมรโบราณด้วย ล้วนแต่สะท้อนศิลปกรรมเขมรช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อย่างชัดเจน ถามว่าแล้วคนเหล่านี้เป็นใคร มาจากไหน ทำไมถึงใช้วัฒนธรรมแบบเขมร แล้วต่อมากลุ่มคนเหล่านี้หายไปไหนกันหมด
เมืองอโยธยาไม่ได้สร้างขึ้นจากความว่างเปล่า อย่างน้อยศิลปกรรมที่หลงเหลือปรากฏให้เห็น ก็แสดงชัดว่าส่วนใหญ่มีวิวัฒนาการจากศิลปกรรมแบบเขมรสมัยก่อน ในพงศาวดารทั้งของไทยและของเขมรต่างก็เล่าไว้ตรงกันว่า สมัยพระรามาธิบดีที่ ๑ หรือ พระเจ้าอู่ทอง มีการยกทัพจากอยุธยาไปตีเมืองพระนครหลวงหรือนครธมในปัจจุบัน พงศาวดารเขมรฉบับนักองค์นพรัตน์บรรยายไว้ว่า “ถึงศักราช ๑๒๗๔ (พ.ศ.๑๘๙๕) พระเจ้าแผ่นดินเสียมยกทัพมาล้อมเมือง ลุศักราช ๑๒๗๕ ปีมะเส็ง ครบ ๑ ปี จึงตีเมืองได้ พระเจ้าแผ่นดินเสียมให้กวาดต้อนครัวเขมร ๙ หมื่นไปยังกรุงเทพ(อยุธยา)” เรื่องการศึกในครั้งนี้ ได้รับการขยายความในเอกสารมหาบุรุษเขมรซึ่งคัดลอกมาจากใบลานว่า “พระองค์(พระเจ้าแผ่นดินเสียม) ตรัสให้กวาดต้อนครอบครัวเขมร ๙ หมื่นคน เหลือไว้ ๑ หมื่น ทรงให้ขนเอาทรัพย์สมบัติ สิ่งของมีราคา และเงินทองสำหรับแผ่นดิน สัตว์ ช้าง ม้า พระราชทรัพย์ เสื่อเงิน เสื่อทอง บรรทุกเกวียนยกทัพกลับคืนไปยังพระมหานคร(กรุงศรีอยุธยา)”
พงศาวดารเขมรฉบับนักองค์นพรัตน์ ยังบอกอีกว่า “ลุศักราช ๑๒๙๔ (พ.ศ.๑๙๑๕) ปีชวด พระบรมราชาพระเจ้าแผ่นดินสยามยกทัพมาล้อมเมืองอยู่ ๗ เดือนจึงตีเมืองแตก แล้วให้โอรสคือพระอินทราชาครองเมือง” ในเอกสารมหาบุรุษเขมรได้ขยายความว่า “พระบรมราชาได้ให้นิมนต์พระพุทธรูปทอง เงิน สำริด แก้ว รูปพระโค รูปสัตว์เป็นอันมาก และพระสงฆ์สมณะ รวมทั้งพญาแก้ว พญาทัย โอรสของกษัตริย์เขมรไปยังอยุธยา ในการนี้กวาดต้อนครัวเขมรไปด้วย ๗ หมื่นคน” ซึ่งข้อความในพงศาวดารเขมรตรงกับพงศาวดารไทยฉบับหลวงประเสริฐที่ว่า “ศักราช ๗๙๓ กุญศก (พ.ศ.๑๙๗๔) สมเด็จพระบรมราชาเจ้าเสด็จไปเอาเมืองนครหลวงได้ แลท่านจึงให้พระราชกุมารท่าน พระนครอินทรเจ้าเสวยราชสมบัดดิณเมืองนครหลวงนั้น ครั้งนั้นท่านจึงให้พญาแก้วพญาไทย แลรูปภาพทั้งปวง มายังพระนครศรีอยุทธยา”
เรื่องราวในพงศาวดารแม้จะยังเป็นที่สงสัย เพราะศักราชแตกต่างจากของไทยมากพอสมควร หรือสงสัยว่าการศึกนี้จะมีคราวเดียว แต่บันทึกสับสนกลายเป็น ๒ ครั้งก็ตามที แต่อย่างน้อยเรื่องราวเหล่านี้พอจะสะท้อนให้เห็นว่ามีการตีเมือง และกวาดต้อนคนเขมรจากเมืองพระนครมาหลายหมื่นคน แล้วคนส่วนนั้นไปอยู่บริเวณส่วนไหนของเมืองอยุธยา หรือถูกส่งไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ที่ขึ้นกับอยุธยา คนเหล่านั้นส่วนใหญ่ยังอยู่หรือว่าต่อมาหนีกลับไปยังเมืองเขมรหมดแล้ว เป็นเรื่องที่น่าคิด และทำไมราชสำนักอยุธยาถึงได้ปรากฏความเป็นเขมรอยู่อย่างมากมาย ทั้งขนบธรรมเนียมราชสำนัก คำราชาศัพท์ วรรณคดี หรือว่าคนเขมรที่ถูกกวาดต้อนมาเหล่านั้น บางส่วนที่เป็นนักปราชญ์ราชบัณฑิต จะเข้าไปรับใช้ในราชสำนักอยุธยา
จากการศึกษาคำเขมรในภาษาไทยของศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.อุไรศรี วรศะรินผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้แสดงให้เห็นว่ามีคำเขมรปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมากและอยู่ในทุกหมวดคำ รองศาสตราจารย์ ดร. วิไลวรรณ ขนิษฐานันท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์เคยให้ข้อคิดว่า คนอยุธยาในสมัยนั้น น่าจะเป็นกลุ่มคนที่พูด ๒ ภาษาคือ ภาษาไทยและภาษาเขมร เพราะหลักฐานที่พบคำเขมรในภาษาไทยสมัยนั้น มากมายเกินกว่าจะเป็นการยืมคำมาใช้ธรรมดา อาจารย์ใช้ว่าเป็นการถ่ายเทภาษา
เมื่ออยุธยาเสียทีแก่พม่าก็เป็นเช่นเดียวกัน ความในพงศาวดารว่า “พระเจ้าหงษาวดีได้กรุงศรี อยุทธยาแล้ว จึงตั้งพระมหาธรรมราชาให้ครองราชย์สมบัติ เอาสมเด็จพระมหินทร์ไปด้วย แลเก็บริบทรัพย์สมบัติแลกวาดต้อนผู้คน พลเมืองไปเปนเชลยเสียเกือบสิ้นพระนคร ปรากฎในพระราชพงษาวดารว่า เหลือกำลังไว้ให้รักษาพระนครรวมทั้งชายเพียง ๑๐,๐๐๐ คน”
ขณะเดียวกันนั้นเองในระหว่างเวลา ๑๕ ปี เมืองไทยต้องเปนประเทศราชขึ้นหงสาวดีอยู่นั้น “พระเจ้าหงษาวดีเกณฑ์กองทัพไปช่วย รบข้าศึกหลายครั้ง สมเด็จพระนเรศวรได้มีโอกาศจัดการทัพศึกฝึกหัดทแกล้วทหารมาแต่แรก ต่อมาพวกเขมรเมืองลแวกเห็นเมืองไทยอ่อนกำลัง ยกกองทัพเข้ามากวาดต้อนผู้คนไปเปนเชลย สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงคุมทกองทัพออกรบพุ่งพวกเขมรแตกพ่ายไปด้วยกำลังแลอุบายหลายคราว” ซึ่งก็ตรงกับพงศาวดารไทยฉบับหลวงประเสริฐว่า “ศักราช ๙๓๗ กุญศก (พ.ศ.๒๑๑๘) พญาลแวกยกทัพเรือมายังพระนครศรีอยุทธยา ในวัน ๗ ๑ ค่ำนั้น ชาวเมืองลแวกตั้งทัพเรือตำบลพแนงเชิง แลได้รบพุ่งกัน ครั้งนั้นเศิกลแวกต้านมิได้ เลิกทัพกลับไป แลจับเอาคน ณ เมืองปากใต้ไปครั้งนั้นมาก ในปีนั้นน้ำ ณกรุงศรีอยุทธยาน้อย”
และพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐยังให้รายละเอียดอีกว่า “ศักราช ๙๔๓ มเสงศก (พ.ศ.๒๑๒๔) ........ อนึ่งในวัน ๗ ๒ ค่ำ รู้ข่าวมาว่าพระเจ้าหงษานฤพาน อนึ่งในเดือน ๓ นั้น พญาลแวกยกพลมาเอาเมืองเพ็ชรบุรี ครั้งนั้นเสียเมืองเพ็ชรบุรีแก่พญาลแวก” ในเรื่องเดียวกันนี้ในพงศาวดารฉบับจันทนุมาศ (เจิม) ได้ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “พระเจ้าละแวกเห็นจะปล้นพระนครมิได้ ก็เลิกทัพคืนลงไปตั้งอยู่ณปากน้ำพระประแดง แล้วก็แต่งให้ขึ้นไปลาดตระเวนจับคนถึงสุพรรณบุรี นครชัยศรี สาครบุรี ราชบุรี ได้หลายหมื่นกรมการและไพร่ชายหญิงอพยพเอาลงเรือล่องไปเป็นอันมาก แล้วพระเจ้าละแวกให้เอารูปเทพารักษ์ทองสัมฤทธิทั้งสององค์ชื่อพระยาแสนตาและบาทสังขกร อันมีมเหศักขภาพ ซึ่งอยู่ณเมืองพระประแดง อันขุดได้แต่ครั้งสมเด็จพระรามาธิบดีนั้นไปด้วย พระเจ้าละแวกก็เลิกทัพกลับไปเถิงเมืองละแวก ศักราช ๙๒๘ ปีขาลอัฐศก (พ.ศ. ๒๑๐๙ ) พระเจ้าละแวกแต่งกองทัพเรือ ใช้ให้พระยบาอุเทศราชและพระยาจีนจันตุยกทัพเรือมาอีก พลประมาณ ๓๐๐๐๐ ยกเข้าตีเอาเมืองเพ็ชรบุรี พระศรีสุรินทรฦาไชย เมืองเพ็ชรบุรีกับกรมการทั้งหลาย แต่งการรบพุ่งป้องกันเป็นสามารถ และข้าศึกยกเข้าปล้นเมืองเถิง ๓ วัน รี้พลข้าศึกก็ตายมากจะปล้นเอาเมืองมิได้”
ในสมัยต่อมาพงศาวดารก็ยังมีการบันทึกถึงการกวาดต้อนคนเขมรเข้ามาในอยุธยาอีก เช่น “ลุศักราช ๙๕๕ ศกมเสงนักษัตร ...... ครั้งนั้นจึงพระนเรศวรเปนเจ้าได้พระองค์กับพระราชเทพีพระราชบุตร แล้วกวาดต้อนครัวเขมรไปเปนอันมาก ลุศักราช ๙๕๖ ศกมเมียนักษัตรเดือนสาม จึ่งพระนเรศวรเปนเจ้านำพระองค์ไปกรุงศรีอยุทธยา ให้แต่พระมหามนตรีเปนแม่ทัพใหญ่รั้งอยู่อุดงฦๅไชย” ในพงศาวดารเขมรฉบับจันทนุมาศ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า “มีพระราชโองการสั่งเสนาธิบดีมนตรีมุขทั้งปวงว่าบุตรภรรยาญาติวงศ์พระเจ้าละแวก และสมัครพักพวกครัวอพยพ ซึ่งจับได้ไว้มากน้อยเท่าใดให้เข้ารวมไว้ให้นายทัพนายกองหลัง คุมล่วงไปก่อน ๗ วัน ทัพหลวงจึงจะเลิกไป ท้าวพระยาทั้งหลายรับพระราชโองการแล้ว ก็มาตรวจจัดครอบครัวพระเจ้าละแวก และไพร่พลในเมืองซึ่งได้ไว้นั้น เป็นคนอพยพ ๓๐,๐๐๐ เศษ แล้วแต่งกองหลังคุมลงไปโดยพระราชบัญชา”
นอกจากจะกวาดต้อนครัวเขมรเข้ามาแล้วพระนเรศวรยังกวาดต้อนผู้คนจากหลายๆ ที่เข้ามาด้วย เช่นความในพงศาวดารว่า “ต่อมาถึงปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิศรภาพของเมืองไทย ไม่ยอมขึ้นเมืองหงษาวดีต่อไป ต้องเตรียมต่อสู้ศึกหงษาวดีที่จะมาตีเมืองไทย สมเด็จพระนเรศวรทรงกวาดต้อนผู้คนหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมารวบรวมกันในกรุงศรีอยุทธยา”
การกวาดต้อนผู้คนไปมานั้นมีตลอดมาจนถึงสมัยพระเจ้าตากสิน เราได้รู้ว่าการกวาดต้อนผู้คนแต่ละครั้งล้วนมีคนล้มหายตายจากเป็นจำนวนมาก จากจดหมายของจดหมายมองซิเออร์คูเดถึงผู้อำนวยการคณะต่างประเทศ ค.ศ. ๑๗๘๐ (พ.ศ. ๒๓๒๓) ความว่า “การที่พระเจ้าตากเสด็จยกทัพไปปราบบ้านเมืองใกล้เคียงและกวาดต้อนเชลยเข้ามาไว้ในกรุงนั้น กระทำให้จำนวนของคนที่ได้รับความเดือดร้อนเพิ่มขึ้นอีกเปนอันมาก เมื่อเดือนสิงหาคมปีกลายนี้ ไทยได้จับลาวมาเปนเชลยกว่า ๓๐๐๐ คน เพราะไทยได้ยกทัพไปรบกับลาวและได้เข้าปล้นและเผาเมืองลาวเสียสิ้น เมื่อพวกชาวเชลยได้ลงมาถึงกรุงก็ได้รับความลำบากจวนจะตายอยู่แล้ว และพวกลาวเชลยได้ตายเสียตามทางมากกว่าจำนวนที่ลงมาถึงกรุงกว่า ๒ เท่า” ซึ่งเรื่องเดียวกันนี้เองในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชการที่ ๑ บอกว่า “กองทัพสมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกตีเมืองล้านช้างได้แล้ว....ไปตีเมืองทันต์ เมืองม่อย ๒ เมืองนี้เป็นลาวทรงดำ อยู่ริมเขตแดนเมืองญวน ได้ครอบครัวลาวทรงดำมาเป็นอันมาก พาครอบครัวลาวเวียง ลาวทรงดำ ลงมาถึงกรุงในเดือนยี่ปีกุน เอกศก ลาวทรงดำนั้นให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่เพชรบุรี ลาวเวียงลาวหัวโขงฟากตะวันออก ก็โปรดให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่สระบุรีบ้าง เมืองราชบุรีบ้าง ตามหัวเมืองตะวันตกบ้าง อยู่เมืองจันทบุรีบ้าง ก็มีเชื้อสายมาจนทุกวันนี้”
ในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี พ.ศ.๒๓๑๔ นักพระโสมทัต เจ้าเมืองเปียมคุมไพร่พลมาตีเมืองตราด เมืองจันทบุรี กวาดต้อนเอาครอบครัวไปเป็นจำนวนมาก พระเจ้ากรุงธนทรงพระพิโรธมาก ทรงยกทัพไปตีเมืองบันทายมาศ จนถึงพนมเปญ ในการศึกครั้งนั้นเจ้าพระยาจักรีกวาดต้อนครอบครัวเมืองบาราย เมืองโพธิสัต และจับได้ขุนนางเขมร ๓ คน รวมกับครอบครัวที่ได้ในครั้งนั้นหมื่นเศษ ส่งเข้ามากรุงธนบุรี
ชุมชนชาวเขมรที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาในสมัยอยุธยาและธนบุรีไม่มีความชัดเจนว่า ถูกนำไปไว้ที่ใดบ้าง เป็นจำนวนเท่าใด ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์จึงได้มีความชัดเจนว่า ชุมชนชาวเขมรถูกนำไปไว้ตรงส่วนไหนบ้าง ในพระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ของ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค) บอกไว้ว่า “ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ พระยายมราช (แบน) ออกไปจัดการให้เมืองเขมรมาขึ้นกรุงดังเดิม แต่พระยายมราช (แบน) ก็ไม่สามารถจัดการได้ ทำได้แต่เพียงเชิญเสด็จพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระนารายณ์ฯ ๒ พระองค์ มีพระนามภายหลังว่า สมเด็จพระท้าวเอกกษัตรี และ สมเด็จพระท้าวมหากษัตรี และ พระโอรสธิดาในสมเด็จพระรามราชา ๔ พระองค์ คือ พระธิดา ๓ พระองค์ นักองเมน นักองอี และ นักองเภา พระโอรสสุดท้อง ๑ พระองค์ คือ นักองเอง พระชันษา ๑๐ ปี กับ กวาดต้อนครัวเขมรเข้ารีตคริสตศาสนา ประมาณ ๕๐๐ คน เข้ามา ภายหลังทรงแต่งตั้งให้ พระยายมราช (แบน) เป็น เจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ผู้สำเร็จราชการพระตะบอง ท่านผู้นี้เป็นต้นสกุล อภัยวงศ์ ในปัจจุบัน”
และบอกตำแหน่งชุมชนเขมรไว้ว่า เจ้านายเขมรทั้งหมดนี้ พระราชทานที่ดินให้อยู่อาศัยบริเวณตำบลคอกกระบือ หรือ คอกควาย ซึ่งปัจจุบันคือ วัดยานนาวา ครั้นถึง พ.ศ.๒๓๒๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างวังพระราชทานที่ริมคลองคูพระนคร เยื้องปากคลองหลอดข้าม ที่บริเวณนั้นจึงเรียกว่า วังเจ้าเขมร สืบมา ส่วนครัวเขมรเข้ารีต พระราชทานที่ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่บริเวณเหนือวัดสมอราย หรือวัดราชาธิวาส ซึ่งปัจจุบัน คือ บริเวณบ้านญวนสามเสน”
เมื่อครั้งสร้างกรุงเทพเป็นเมืองหลวงใหม่สมัยรัชกาลที่ ๑ ชาวเขมรก็ได้มีส่วนร่วมในการสร้างด้วยดังปรากฏในพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๑ ว่า “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก โปรดขุดคลองสร้างพระนคร เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๖ (จุลศักราช ๑๑๔๕) สำหรับให้เป็นคลองคูพระนครด้านตะวันออก โปรดให้เกณฑ์เขมร ๑๐,๐๐๐ คนทำการขุด โดยขุดจากบางลำพูตลอดมาออกแม่น้ำข้างวัดสามปลื้ม ยาว ๘๕ เส้น ๑๓ วา กว้าง ๑๐ วา ลึก ๕ ศอก พระราชทานชื่อว่า คลองรอบกรุง .....และวัดสะแกนั้นเมื่อขุดคลองมหานาคแล้ว พระราชทานนามเปลี่ยนใหม่ว่า วัดสระเกศ และขอแรงเขมรที่เข้ามาขุดคลองให้ช่วยขุดรากทำพระอุโบสถใหม่ด้วย” เรื่องเดียวกันนี้ในพงศาวดารเขมรกล่าวไว้ว่า “ลุศักราช ๑๑๕๓ ศกกุนนักษัตร พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ทรงบังคับมา ให้เจ้าฟ้าทะละหะซึ่งเปนเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ เกณฑ์ไพร่พลเขมร ๑๐๐๐๐ นำเข้าไปทำราชการขุดคลองวัดสะเกษ” ในขณะที่หนังสือภาษาเขมรเรื่อง “บัดด็อมบองสมัยโลก มจ๊ะ หรือ พระตะบองสมัยท่านเจ้าคุณ” ให้รายละเอียดว่า หลังจากเจ้าฟ้าแบนได้เป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศแล้วได้เกณฑ์ราษฎรเขมร ๑ แสนคนให้ไปช่วยเผาอิฐและขุดคลองที่ราชธานีของสยาม ทำให้เขมรต้องพลัดพรากจากลูกเมียไปอาศัยอยู่ในดินแดนไทยจนถึงปัจจุบัน กลายเป็นสถานที่ที่เรียกว่า “บางแสน”
ความจริงการกวาดต้อนคนเขมรเข้ามายังภาคกลางของไทยยังปรากฏหลักฐานอยู่อีกหลายครั้ง ทั้งในสมัยรัชกาลที่ ๒ และรัชกาลที่ ๓ แต่ในสมัยหลังนี้คงไม่มีผลกระทบอะไรกับขนบธรรมเนียม ประเพณีของไทยมากนัก เพราะจากลักษณะทางภาษาที่ไทยยืมมาก็ดี ขนบประเพณีอื่นๆ ก็ดี พบว่าน่าจะเป็นเขมรตั้งแต่สมัยพระนครหรือปลายสมัยพระนครเท่านั้น การที่ผู้เขียนแสดงหลักฐานการเข้ามาของคนเขมรในสมัยต่างๆ ก็เพื่อต้องการเป็นข้อมูลในคำถามที่ควรจะมีการศึกษากันต่อไป คือ
- คนเขมรหรือคนที่ใช้อารยธรรมเขมรโบราณที่เคยอาศัยอยู่บริเวณประเทศไทยในปัจจุบัน ลูกหลานหรือวงศ์ตระกูลของคนเหล่านั้น หายไปไหน ควรจะสืบทอดลูกหลานอยู่บริเวณนี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของคนไทยหรือกลับไปยังประเทศเขมร หรือไปยังที่อื่นแล้ว
- ประเพณีหรือพิธีกรรมบางอย่างที่มีส่วนคล้ายกับเขมร เช่น พิธีไหว้พระแข ของชาวสุพรรณบุรี เป็นต้น เรื่องเล่า ความเชื่อ ตำนานหรือนิทานท้องถิ่นบางเรื่อง ที่คล้ายกับเขมร มีหลักฐานอะไรบ้างที่แสดงว่าสิ่งเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเขมร
- ถ้าเราเป็นคนเขมรปัจจุบัน จะมีทัศนคติต่อคนเหล่านี้อย่างไร จะถือเป็นบรรพบุรุษ เป็นพี่น้อง เป็นคนลืมพวกพ้อง เป็นกบฏ หรือ เป็นพวกประเภทไหน
๒. กลุ่มคนผู้ใช้วัฒนธรรมเขมรในประเทศไทย
การแบ่งแยกกลุ่มคนเป็นเชื้อชาติต่างๆ นั้น สิ่งที่แสดงให้เห็นชัดเจน คือภาษาที่ใช้ และการถือขนบธรรมเนียมต่างๆ ที่มีรูปแบบคล้ายคลึงกัน กลุ่มคนที่ใช้ภาษาเขมรในประเทศไทยตามข้อมูลจาก http://www.ethnologue.com/show_country.asp?name=Thailand บอกว่า มีจำนวนประมาณ ๑,๑๑๗,๐๐๐ คน อาศัยอยู่แถบภาคอีสานตอนล่างที่มีพรมแดนติดกับประเทศเขมร ได้แก่จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่างกลุ่มคนแรกกับกลุ่มคนที่ ๒ คือ กลุ่มคนแรกอาจเป็นคนเขมรแท้ๆ แต่เมื่อถูกอพยพโยกย้ายเข้ามาอยู่ในดินแดนไทย ความเป็นคนเขมรของคนเหล่านี้เริ่มสลายลงทีละยุคทีละสมัยถูกความเป็นไทยกลืนจนกระทั่งหายไปในที่สุด ส่วนคนกลุ่มที่ ๒ ที่กำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ เป็นกลุ่มคนที่ใช้ภาษาและวัฒนธรรมเขมร ที่ยังคงรักษาลักษณะประเพณีแบบเขมรตั้งแต่อดีตอยู่ได้ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน
ดินแดนแถบนี้ปรากฏร่องรอยอารยธรรมเขมรโบราณอยู่เป็นจำนวนมาก ในพงศาวดารเขมรเองก็ถือว่าดินแดนเหล่านี้ตั้งอยู่ในอาณาจักรเขมรตลอดมา จนถึงสมัยพระเจ้าอู่ทอง ให้พระราเมศวรยกกองทัพจากกรุงศรีอยุธยาไปตีเมืองนครธม กองทัพได้ผ่านทางเมืองนครราชสีมา ตีเมืองนครราชสีมาแตกก่อนจึงไปตีเมืองนครธม และในสมัยสมเด็จเจ้าสามพระยายกทัพไปตีนครธมแตกอีกครั้งหนึ่ง เขมรต้องย้ายเมืองหลวงลงไปทางใต้ ตั้งแต่นั้นมาดินแดนเหล่านี้จึงตกอยู่ในอาณาจักรไทยตราบจนปัจจุบัน
ดินแดนเหล่านี้คงไม่ได้มีความสำคัญต่อบ้านเมืองในภาคกลางของไทยเท่าใดนัก เพราะไม่ปรากฏในพงศาวดารไทย หรือในบันทึกเก่าๆ เลย เพิ่งมาปรากฏในพงศาวดารไทยชัดเจนในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา และเรียกคนแถบนี้ว่า เขมรป่าดง บ้าง เขมรส่วยป่าดง บ้าง
ในพงศาวดารหัวเมืองมณฑลอีสาน บันทึกไว้ว่า “จุลศักราช ๑๑๒๑ (พ.ศ.๒๓๐๓) ปีเถาะเอกศก ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระบรมราชาที่ ๓ ฤๅไนยหนึ่งเรียกว่าพระเจ้าอยู่หัวพระที่นั่งสุริยามรินทร์ (คือเจ้าฟ้า เอกทัศน์ กรมขุนอนุรักษ์มนตรี ) ขึ้นครองราชสมบัติ เปนพระเจ้าแผ่นดินสยามที่ ๓๓อยู่ณกรุงศรีอยุทธยา เวลานั้นพระยาช้างเผือก แตกโรงออกจากกรุงไปอยู่ในป่าดง ทางตวันตกแขวงเมืองปาศักดิโปรดให้สองพี่น้อง (ซึ่งผู้จดพงษาวดารเดิมเข้าใจว่าเปนพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์ กับกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท) คุมไพร่พลแลกรมช้างออกเที่ยวติดตามพระยาช้างเผือกมาทางแขวงเมืองพิมาย แลเลยไปจนถึงดงฟากฝั่งลำน้ำมูลข้างใต้ จึ่งได้ข่าวพระยาช้างเผือกจากพวกเขมร, ส่วยป่าดง คือ ตากะจะแลเชียงขัน ซึ่งตั้งอยู่บ้านประสาทสี่เหลี่ยมโคกลำดวนใหญ่ ๑ ตาฆะบ้านดงยาง (ฤๅเรียกโคกอัจประหนึ่ง) ๑ เชียงปุ่มบ้านโคกเมืองที่ ๑ เชียงสี (ฤๅตาพ่อควาน) บ้านกุดหวาย (ฤๅบ้านเมืองเตา ตามชื่อเชียงสีเมื่อเปนหลวงศรีนครเตา) ๑ เปนผู้นำสองพี่น้อง แลไพร่พลไปติดตามพระยาช้างเผือกมาได้ ตากะจะ เชียงขัน เชียงฆะ เชียงปุ่ม เชียงสี ก็ตามสองพี่น้องนำพระยาช้างเผือกกลับคืนไปณกรุงศรีอยุทธยา พระเจ้ากรุงศรีอยุทธยาจึงโปรดตั้งให้ ตากะจะเปนหลวงแก้วสุวรรณ เชียงขันเปนหลวงปราบ เชียงฆะเปนหลวงเพ็ชร เชียงปุ่มเปนหลวงสุรินทรภักดี เชียงสีเปนหลวงศรีนครเตา ให้ควบคุมพวกเขมรส่วยป่าดงในตำบลบ้านที่ตนอยู่นั้น ๆ ทำราชการขึ้นกับเมือง พิมาย พวกนายกองเขมรส่วยป่าดงทั้งห้าคนพากันกลับมายังบ้านแห่งตน ฝ่ายเมืองพิมายเห็นว่า บ้านเมืองซึ่งหลวงสุรินทรภักดีเปนนายกองรักษาอยู่นั้นเปนบ้านน้อย จึงให้ยกมาอยู่ณตำบลคูปะทายสมัน ภายหลังพวกนายกองเขมรส่วยป่าดงทั้งห้าคนนี้ ได้นำช้าง, ม้า,แก่นสน, ยางสน,ปีกนก, นอรมาด, งาช้าง, ขี้ผึ้ง ซึ่งเปนของส่วยไปส่งณกรุงศรีอยุทธยา จึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ตั้งให้หลวงสุวรรณ (ตากะจะ) เปนพระไกรภักดีศรีนครลำดวนเจ้าเมือง ยกบ้านปราสาทสี่เหลี่ยมดงลำดวน เปนเมืองขุขันธ์ ให้หลวงเพ็ชร (เชียงฆะ) เปน พระสังฆะบุรีศรีนครอัดจะเจ้าเมือง ยกบ้านโคกอัดจะ (ฤๅบ้านดงยาง) เปนเมืองสังฆะให้หลวงสุรินทรภักดี (เชียงปุ่ม) เปนพระสุรินทรภักดี ศรีณรงค์จางวางเจ้าเมือง ตั้งบ้านคูปะทาย เปนเมืองปะทายสมัน (คือเมืองสุรินทร์) ให้หลวงศรีนครเตา (เชียงสี) (ฤๅตาพ่อควาน) เปน พระศรีนครเตาเจ้าเมือง ยกบ้านกุดหวาย (ฤๅบ้านเมืองเตา) เปน เมืองรัตนบุรี ขึ้นกับเมืองพิมาย”
จากข้อความในพงศาวดารจะเห็นได้ชัดว่า ผู้คนในบริเวณนี้อยู่กันเป็นกลุ่มๆ เป็นหมู่บ้าน เพิ่งได้รับการตั้งเป็นเมืองและมีเจ้าเมืองปกครองในสมัยปลายกรุงศรีอยุธยา หลังจากนั้นมาบ้านเมืองบริเวณนี้ก็มีการพัฒนาขึ้น มีการติดต่อกับส่วนกลาง และมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ดังได้บันทึกไว้ในพงศาวดารฉบับต่างๆ
เมื่อครั้งรัชกาลพระเจ้าตากสิน ให้รัชกาลที่ ๑ ซึ่งขณะนั้นเป็นเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกยกทัพไปตีเมืองเวียงจันท์ ท่านก็เกณฑ์คนแถบนี้ได้ราชการทัพด้วย ดังปรากฏในพงศาวดารว่า “ลุจุลศักราช ๑๑๔๐ (พ.ศ.๒๓๒๑) ปีจอสัมฤทธิศก พระเจ้ากรุงธนบุรีจึ่งโปรดให้พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกย์แต่ครั้งยังดำรงพระยศเปนสมเด็จเจ้าพระยามหากระษัตริย์ศึกเปนแม่ทัพยกไปทางบก สมทบกับกำลังเกณฑ์เมืองสุรินทร์ ขุขันธ์ สังฆะ แลโปรดให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลมหาสุรสิงหนาท แต่ครั้งยังดำรงพระยศเปนเจ้าพระยาสุรสีห์เปนแม่ทัพยกไปกรุงกัมพูชา เกณฑ์พลเมืองเขมรต่อเรือรบยกขึ้นไปตามลำน้ำโขง ….. แล้วก็เลยยกไปตีเมืองนครพนมบ้านหนองคายได้ แล้วยกไปล้อมเมืองเวียงจันท์ไว้ พระเจ้ากรุงศรี สัตนาคนหุตต้านทานมิได้ก็หนีไปทางเมืองคำเกิด กองทัพไทยยกเข้าเมืองได้แล้ว ตั้งให้พระยาสุโพเปนผู้รั้งเมืองศรีสัตนาคนหุต แล้วเชิญพระแก้วมรกฎ ๑ พระบาง ๑ ซึ่งอยู่ในเมืองเวียงจันท์ กับคุมเอาตัวพระเจ้า องค์หลวง (คือเจ้านครจำปาศักดิไชยกุมาร) ยกกองทัพกลับมายังกรุงธนบุรีพระเจ้ากรุงธนบุรีจึ่ง.....โปรดให้เลื่อนเจ้าเมืองขุขันธ์ สังฆะ สุรินทร์ ขึ้นเปนตำแหน่งพระยาทั้งสามเมือง”
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ดินแดนแถวนี้ก็ยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะเมื่อ พ.ศ. ๒๓๔๒ ถูกเกณฑ์ไปช่วยรบกับทัพพม่าที่มาตั้งอยู่เขตเชียงใหม่ และต่อมาก็ยิ่งทวีความสำคัญมากขึ้นไปอีก ในพงศาวดารบันทึกไว้ว่า “ลุจุลศักราช ๑๑๖๘ (พ.ศ.๒๓๔๙) ปีขาลอัฐศก ทรงพระราชดำริห์ว่าเมืองสุรินทร์ เมืองสังฆะ เมืองขุขันธ์ เปนเมืองเคยได้ตามเสด็จพระราชดำเนินในการพระราชสงครามหลายครั้งมีความชอบมาก ให้ยกเมือง ทั้ง ๓ นี้ขึ้นกรุงเทพ ฯ อย่าให้ขึ้นอยู่ในบังคับเมืองพิมายเมืองนครราชสิมาเหมือนแต่ก่อนนั้น”
สมัยรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งศึกเจ้าอนุวงศ์ ดินแดนแถบนี้ก็ได้กลายมาเป็นสมรภูมิรบระหว่างลาวกับไทย โดยเจ้านครจำปาศักดิ (โย่) เกณฑ์กำลังยกเปนกองทัพลงมาตีเมืองขุขันธ์ สังฆะ สุรินทร์ แตกทั้ง ๓ เมือง ....... ให้กวาดครอบครัวไทยเขมรส่งไปยังเมืองจำปาศักดิเปนอันมาก ครั้งนั้นกองทัพเวียงจันท์ แลเมืองจำปาศักดิ ตั้งค่ายอยู่ที่มูลเคง แขวงเมืองนครราชสิมาแห่ง ๑ ที่บ้านส้มป่อย แขวงเมืองขุขันธ์แห่ง ๑ ที่ทุ่งมนแห่ง ๑ ค่ายน้ำคำแห่ง ๑ ที่บกหวานแขวงเมืองหนองคายแห่ง ๑
จากนั้นเมื่อกองทัพฝ่ายไทยรุกกลับ ทำลายค่ายต่างๆ ของลาวได้หมดแล้ว “พระยาจันทบุรีคุมกองทัพออกไปทางเมืองพระตะบอง ขึ้นไปเกณฑ์คนเมืองสุรินทร เมืองสังขะเขมรป่าดง ตีขึ้นไปทางเมืองนครจำปาศักดิ์อีกทัพ ๑”
แม้กระทั่งเมื่อสงครามกับทางลาวสงบแล้ว เมื่อมีสงครามกับเวียดนามในสมรภูมิประเทศเขมร ผู้คนแถวนี้ก็ถูกเกณฑ์ไปร่วมรบหลายครั้งหลายครา เช่น “หลวงรักษาเทพ หลวงหัศนัยน์ณรงค์คุมกองทัพ เมืองขุขันธ์ ๑๕๐๐ เมืองสังคะ ๕๐๐ เมืองสุรินทร์ ๑๐๐๐ เมืองศรีสะเกศ ๑๐๐๐ เมืองเดชอุดม ๓๐๐ (รวม) ๔๓๐๐ คน ได้ยกไปเมืองเสียมราบ” และ “ทางหลายตำบลขัดสนสะเบียงอาหารจึงให้เลิกคนเมืองร้อยเอ็ด, เมืองสุวรรณ์ภูม์, เมืองขุขันธ์, เมืองศีศะเกษ , เมืองเขมราฐ, เมืองนคราชสิมา, เมืองปราจิน ๗ เมือง เป็นคน ๗๒๓๘ คน ให้กลับไปบ้านไปเมืองทันทำไร่นา คนในกองทัพยังอยู่ที่อุดงมีไชยเมืองโพธิสัตว์ ๖๔๖๒ คน” ซึ่งจากจำนวนในการเกณฑ์และการส่งกลับแต่ละครั้งทำให้สามารถคำนวณได้คร่าวๆ ว่าคนที่อาศัยอยู่บริเวณนี้น่าจะมีมากพอสมควร
การเกณฑ์ผู้คนแถบนี้เพื่อไปใช้ในราชการสงครามก็ดี ในราชการอื่นๆ ก็ดีได้มีมาตลอด แม้แต่ครั้งการสร้างทางรถไฟสายตะวันออกเฉียงเหนือสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่ต้องสร้างตัดผ่านเทือกเขาดงพญาเย็น ซึ่งถือว่าเป็นทางสายมรณะทางหนึ่ง ก็ยังมีการเกณฑ์ผู้คนแถบนี้ไปร่วมด้วย ซึ่งในครั้งกระนั้นตาของผู้เขียนก็เป็นหนึ่งในจำนวนที่ถูกเกณฑ์ไปสร้างทางรถไฟสายดังกล่าวด้วย คนแก่คนเฒ่าเล่าให้ฟังว่าถ้าหมู่บ้านไหนถูกเกณฑ์ไปก็เตรียมจัดงานศพไว้ล่วงหน้าได้เลย เพราะน้อยครั้งนักที่จะมีผู้คนรอดกลับมาได้
กลุ่มคนบริเวณนี้จากที่เคยมีอารยธรรมแบบเขมรโบราณ ดังปรากฏหลักฐานจากเศษซากศาสนสถานต่างๆ เข้าสู่ยุคเขมรป่าดง ไม่ได้มีบทบาทปรากฏในทางประวัติศาสตร์ทั้งของไทยและของเขมร จนค่อยๆ ปรากฏเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในช่วงตอนปลายอยุธยา และพัฒนาเป็นบ้านเป็นเมือง มีเจ้าเมืองปกครอง เกี่ยวของกับศูนย์กลางของอำนาจ และปรากฏอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน
การเกี่ยวข้อง การติดต่อสัมพันธ์ หรือการเข้ามาอยู่ภายใต้การปกครองอย่างเต็มรูปแบบของอาณาจักรไทยเป็นเวลาหลายร้อยปี ก็มิได้ทำให้ขนบธรรมเนียม ประเพณี ความเชื่อ หรือการใช้ภาษาของคนเหล่านี้เปลี่ยนไปมากเลย
ปัจจุบันเป็นสมัยแห่งเทคโนโลยี การมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ การเข้าถึงข่าวสารข้อมูล การศึกษาที่มากขึ้น การเปิดกว้างทางความคิด การคมนาคมที่สะดวก ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนถิ่นนี้เริ่มเปลี่ยนไป แต่ความเปลี่ยนแปลงนี้มีความค่อยเป็นค่อยไป โดยยังคงมีอัตลักษณ์ของคนที่ถือวัฒนธรรมเขมรอยู่ควบคู่ไปกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโดยรวมของประเทศไทย ดังนั้น สิ่งที่ควรทำความศึกษาในสถานการณ์นี้คือ
- คนบริเวณนี้เมื่ออยู่กับคนไทย จะถูกเรียกว่าเป็น “เขมร” แต่เมื่อยู่กับพวกเขมรจะถูกเรียกว่า “ไทย” แล้วสามัญสำนึกของคนถิ่นนี้คิดว่าตัวเองเป็นอะไร และอยากเป็นอะไร
- คนเหล่านี้มีความรู้สึกกับคนในประเทศเขมรในแง่ไหน เป็นญาติพี่น้องเผ่าพันธุ์เดียวกัน เป็นคนต่างถิ่น เป็นคนละเชื้อชาติ และคนในประเทศเขมรก็เหมือนกัน มีความรู้สึกกับคนไทยที่พูดและใช้วัฒนธรรมเขมรอย่างไร
- คนเหล่านี้มีความภาคภูมิใจ หรือมีความต้อยต่ำใจ หรือมีความรู้สึกอย่างไร ที่มีภาษา ขนบธรรมเนียมบางอย่างไม่เหมือนกลุ่มคนอื่นๆ ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่กว่า
ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ทั้งที่เป็นส่วนแรกและส่วนที่ ๒ เป็นเรื่องที่ควรคิดควรศึกษาทำความเข้าใจให้ถ่องแท้ เพราะเมืองไทยมีกลุ่มชนที่หลากหลายเผ่าพันธุ์ มีความสลับซับซ้อนในรากเหง้า วิถีชีวิต และขนบธรรมเนียม เมื่อทำความเข้าใจได้แล้ว จึงจะเห็นว่า ทำไมมันถึงได้เป็นอย่างนี้ สาเหตุมันมาจากไหนและต่อไปมันจะเป็นอย่างไร
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น