วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2555

มหาชาติคำหลวง : ความเกี่ยวโยงกับเวสสันดรชาดกในกัมพูชา
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. กังวล  คัชชิมา*

          กัมพูชาโบราณหรือที่รู้จักกันในนาม อาณาจักรพระนคร มีอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๐ และเจริญสืบต่อมาเป็นระยะเวลายาวนาน ปราสาทหินที่มีอยู่มากมายทั่วทั้งอาณาจักรและข้อความในศิลาจารึกที่บันทึกเรื่องราวในสมัยนั้นๆ เป็นหลักฐานช่วยยืนยันความเจริญรุ่งเรืองนั้นได้เป็นอย่างดี ซึ่งหลักฐานส่วนใหญ่มีความเกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ในลัทธิไศวนิกายและไวษณพนิกาย รวมทั้งศาสนาพุทธ นิกายมหายานและวัชรยาน ส่วนนิกายเถรวาทหรือหีนยานที่เรานับถือกันอยู่ในปัจจุบันนี้มีหลักฐานน้อยมาก  ในปลายสมัยเมืองพระนคร ประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๘ พระเจ้าแผ่นดินของกัมพูชาโบราณในสมัยนั้นคือ พระเจ้าชัยวรรมันที่ ๗ (พ.ศ. ๑๗๒๔- ประมาณ พ.ศ. ๑๗๖๑) พระองค์ทรงนับถือศาสนาพุทธ นิกายมหายาน และสนับสนุนให้มีการก่อสร้างศาสนสถานและศาสนวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศาสนาพุทธทั่วทั้งอาณาจักรของพระองค์

หลักฐานเรื่องเวสสันดรชาดกที่เก่าที่สุด
          ภาพสลักเรื่องเวสสันดรที่ปรากฏเป็นหลักฐานเหลืออยู่ในปัจจุบันที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย คือ ภาพสลักบนใบเสมา พบที่เมืองฟ้าแดดสงยาง ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ – ๑๖ โดยพบร่วมกับภาพสลักทศชาติชาดกเรื่องอื่นๆ ด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ยังไม่เคยมีการศึกษาถึงความสืบเนื่องของความรับรู้เรื่องชาดกเหล่านี้จากสมัยที่มีภาพสลักมาสู่วรรณกรรมไทยเรื่องพระเวสสันดร สำนวนถิ่นต่างๆ ในประเทศไทย หรือ ความเกี่ยวข้องกับมหาชาติคำหลวงที่แต่งในสมัยพระบรมไตรโลกนาถในช่วงอยุธยาตอนต้น
          สำหรับในอาณาจักรเขมรโบราณในช่วงสมัยที่มีการสร้างปราสาทหินนั้น แม้ไม่มีข้อความศิลาจารึกบอกไว้ชัดเจน แต่หลักฐานจากสิ่งก่อสร้างคือภาพสลักต่างๆ  ช่วยให้เราทราบว่า ในสมัยนั้นเรื่องราวของเวสสันดรชาดก ได้แพร่หลายไปในกลุ่มชนที่นับถือศาสนาพุทธในระดับหนึ่งแล้ว  เพราะมีการสลักภาพชาดกเรื่องเวสสันดรไว้บนหน้าบันที่ปราสาทธมมานนท์ ในกลุ่มโบราณสถานเมืองเสียมเรียบ ซึ่งสร้างร่วมสมัยเดียวกับปราสาทนครวัด คือเมื่อประมาณ ๙๐๐ ปีที่แล้ว นอกจากนั้นยังพบภาพสลักบนทับหลังปราสาทพระขรรค์ ในเมืองเสียมเรียบและปราสาทตาพรหมแห่งแม่น้ำบาตี ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของกรุงพนมเปญประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ซึ่งปราสาททั้ง ๒ แห่ง สร้างหลังจากปราสาทธมมานนท์ประมาณ ๕๐ ปี อีกด้วย


* ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร
  ปรับปรุงจากบทความเรื่อง “เวสสันดรชาดกในกัมพูชา”  สำหรับประกอบการบรรยายเรื่อง “ที่มาของมหาชาติ    คำหลวง”  ในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่องคำยืมภาษาเขมรในภาษาและวรรณกรรมไทย จัดโดยภาควิชาภาษาตะวันออก  คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ระหว่างวันที่ ๒๕ เมษายน – ๒ พฤษภาคม ๒๕๕๕



     
ปราสาทธมมานนท์ ศิลปะร่วมสมัยกับปราสาทนครวัด              หน้าบันด้านหน้า ปีกเหนือ สลักเรื่องเวสสันดรชาดก

ในภาพสลักที่หน้าบันปราสาทธมมานนท์มีภาพเล่าเรื่องปรากฏอยู่ ๒ ส่วนคือ ด้านบน เป็นภาพสลักรูปบุคคลคล้ายฤาษีนั่งอยู่ ทำท่ายื่นมือออก ตรงกลางภาพเป็นรูปเด็ก ๒ คน อีกรูปหนึ่งลบเลือนไปมากแล้ว แต่คล้ายกับคนกำลังนั่งหันหน้าเข้าหาเด็กและยื่นมือออกมาด้วย สันนิษฐานว่าเป็นตอนที่พระเวสสันดรประทาน ๒ กุมารแก่ชูชก แถวด้านล่างมีภาพสลักเทพประณม ๕ องค์ ส่วนภาพทางด้านซ้ายมือ มีผู้หญิงยืนอยู่ ๑ คน ที่โคนไม้มีภาพสลักคล้ายเด็ก ๒ คน ถูกมัดมือติดกับต้นไม้ ส่วนบนต้นไม้เป็นภาพสลักคล้ายคนแก่กำลังนอนอยู่ สันนิษฐานว่าเป็นเรื่องเวสสันดรชาดก ตอนชูชกพา ๒ กุมารเดินทางกลับบ้าน ระหว่างทางแวะพักค้างคืน ชูชกมัด ๒ กุมารไว้ที่โคนต้นไม้ ส่วนตัวเองปีนขึ้นไปนอนบนต้นไม้ ในคืนนั้นเทพธิดาได้แปลงร่างเป็นพระนางมัทรี มาช่วยปลอบประโลมกุมารทั้ง ๒ ให้หายหวาดกลัวและกล่อมจนหลับไปทั้งคู่ ซึ่งตามเนื้อเรื่อง วันรุ่งขึ้นชูชกพากุมารทั้ง ๒ ไปยังเมืองเชตุดร พระเจ้ากรุงสญชัยได้ไถ่ตัว ๒ กุมาร พร้อมทั้งพระราชทานทรัพย์เป็นอันมาก   แก่ชูชก และชูชกพราหมณ์เฒ่าก็ได้เสียชีวิตเพราะบริโภคอาหารมากเกินไป

         ภาพสลักตอนประทาน ๒ กุมารแก่ชูชก ที่ทับหลังปราสาทพระขรรค์

          ที่ปราสาทพระขรรค์ ซึ่งเป็นศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาที่พระเจ้าชัยวรรมันที่ ๗ สร้างอุทิศแด่พระราชบิดา เมื่อ พ.ศ.๑๗๓๔ ได้พบทับหลังซึ่งปัจจุบันตกอยู่บนพื้นดินใกล้กับประตูทางเข้าปราสาท สลักรูปผู้ใหญ่ ๒ คน คนหนึ่งแต่งตัวคล้ายฤาษี อีกคนหนึ่งใบหน้าหายไปแล้ว กำลังยื่นมือเพื่อมอบและรับของบางสิ่ง ส่วนใต้มือของทั้งสอง มีภาพสลักเด็ก ๒ คน ซึ่งภาพนี้นักวิชาการสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาพสลักเรื่องเวสสันดรชาดก ตอนพระเวสสันดรประทาน ๒ กุมารแด่ชูชก

       
         ปราสาทตาพรหมบาตี  จังหวัดตาแก้ว                 ทับหลังสลักเรื่องเวสสันดรชาดก ที่ปราสาทตาพรหมบาตี

          ปราสาทตาพรหมแม่น้ำบาตี ตั้งอยู่ทางด้านใต้ของกรุงพนมเปญประมาณ ๒๐ กิโลเมตร เป็นปราสาทหินที่สร้างในรัชกาลของพระเจ้าชัยวรรมันที่ ๗ เช่นเดียวกับปราสาทพระขรรค์ ด้านหน้าของปราสาทพบทับหลังที่มีภาพสลักเรื่องเวสสันดรชาดกอยู่ด้วย โดยภาพสลักด้านซ้ายมือเป็นรูปช้าง และมีบุคคลนั่งสองคน คนหนึ่งกำลังทำท่าคล้ายหลั่งน้ำบนฝ่ามืออีกฝ่ายหนึ่ง สันนิษฐานว่าเป็นภาพสลักเล่าเรื่องตอนพราหมณ์ชาวกลิงคราษฎร์มาทูลขอช้างปัจจยนาเคนทร์ และพระเวสสันดรก็ทรงหลั่งน้ำมอบให้  ถัดมาเป็นภาพบุคคลสี่คนนั่งบนรถที่เทียมด้วยม้าสันนิษฐานว่า เป็นภาพพระเวสสันดร พระนางมัทรีและพระโอรสธิดาทั้งสองคือ กัณหาและชาลี ด้านใต้ภาพขาม้าเทียมรถ มีคนหลังค่อมถือไม้เท้าสันนิษฐานว่าเป็นภาพสลักชูชก
         
ด้านในปราสาทตาพรหมบาตีนอกจะมีภาพสลักพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปปางสมาธิ พระอวโลกิเตศวร และภาพบุคคลต่างๆ แล้ว ด้านข้างของหน้าบันปราสาทหลังกลาง ยังมีภาพสลักเล่าเรื่อง เป็นภาพบุคคลสองคนยืนอยู่ มีบุคคลหนึ่งคนนั่งคุกเข่ายื่นมือออกไปเหมือนจะรับของบางอย่าง และด้านขวาของภาพมีช้างยืนอยู่ สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นภาพสลักเรื่องเวสสันดรชาดก ตอนพระเวสสันดรประทานช้างปัจจยนาเคนทร์ให้แก่พราหมณ์ชาวเมืองกลิงคราษฎร์เช่นเดียวกัน


ภาพสลักด้านข้างของหน้าบันปราสาทหลังกลาง

          จากหลักฐานภาพสลักที่ปราสาทธมมานนท์ ปราสาทพระขรรค์ และปราสาทตาพรหมบาตีนี้ ช่วยให้ทราบว่าอย่างน้อยเมื่อ ๙๐๐ ปีที่ผ่านมา คนกัมพูชาโบราณรู้จักเรื่องเวสสันดรชาดกแล้ว ข้อสังเกตประการหนึ่งคือภาษาที่ใช้ในอาณาจักรกัมพูชาโบราณนั้นนอกจากจะใช้ภาษาเขมรโบราณแล้ว ภาษาที่ใช้ทางศาสนาส่วนใหญ่ทั้งศาสนาพุทธและศาสนาพราหมณ์ คือภาษาสันสกฤต  ฉะนั้น ผู้เขียนจึงตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องเวสสันดรชาดกสมัยแรกๆ ที่แต่งเป็นวรรณกรรมไทย น่าจะได้รับอิทธิพลมาจากเวสสันดรชาดกที่เป็นภาษาสันสกฤต เพราะว่าแม้ดูเหมือนจะใช้คัมภีร์ภาษาบาลีเป็นหลักในการเล่าเรื่อง แต่เวลาเรียกชื่อ ทั้งที่เป็นชื่อบุคคลและชื่อเมือง พบว่านิยมเรียกชื่อเป็นภาษาสันสกฤตมากกว่าชื่อภาษาบาลี เช่น (ชื่อแรกเป็นภาษาบาลี ชื่อที่สองเป็นภาษาสันสกฤต) เวสสันดร-แพศยันดร มัทที-มัทรี กัณหา-กฤษณา เจตปุตต-เจตปุตร กลิงครัฎฐ-กลิงคราษฎร์ เป็นต้น      อาจเป็นเพราะคนสมัยนั้นคุ้นเคยกับชื่อภาษาสันสกฤตอยู่แล้วก็ได้ และด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงสันนิษฐานต่อไปอีกว่า มหาชาติคำหลวงสมัยอยุธยา ที่แต่งในรัชกาลสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ พ.ศ. ๒๐๒๕ ก็น่าจะได้รับอิทธิพลส่วนหนึ่งมาจากเวสสันดรชาดกของกัมพูชาโบราณ
          นอกจากภาพสลักที่ปราสาทธมมานนท์และปราสาทตาพรหมบาตีนี้แล้ว ผู้เขียนทราบว่ายังมีภาพสลักเกี่ยวกับเรื่องเวสสันดรชาดกในปราสาทอีก ๑ หลัง คือปราสาทตาไน ซึ่งเป็นปราสาทหินสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรรมันที่ ๗ ร่วมสมัยกับปราสาทพระขรรค์และปราสาทตาพรหมบาตี[1]  อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนยังสำรวจไม่พบภาพสลักที่ปราสาทตาไน จึงไม่ได้นำมาแสดงไว้ในที่นี้ด้วย 
         
เวสสันดรชาดกเขมรสมัยหลังพระนคร
          หลังสิ้นสุดอารยธรรมที่รุ่งเรืองของกัมพูชาโบราณ อาณาจักรกัมพูชาเกิดความระส่ำ-ระสายจากการรุกรานของอาณาจักรใกล้เคียงและจากการสู้รบกันเอง ทำให้ต้องย้ายเมืองหลวงจากเมืองยโศธรปุระ ซึ่งปัจจุบันคือเมืองเสียมเรียบ ไปยังที่ต่างๆ เช่น ศรีสันธร ละแวก และอุดงค์มีชัย เป็นต้น ทำให้หลักฐานต่างๆ สูญหายไปเป็นจำนวนมาก แม้จะมีหลักฐานเหลืออยู่น้อย แต่ก็ยังปรากฏเรื่องราวเวสสันดรในจารึกนครวัดสมัยหลังพระนคร เช่น
ในจารึก IMA. [2]  พ.ศ. ๒๑๔๐ เขียนไว้ว่าข้าไม่ให้ขัดขวางต่อการทำทานนี้เลย ให้ทำตัวเหมือนกรสนาชาลีย์ หมายถึง ให้ช่วยยินดีในการบริจาคทานเหมือนกับกัณหาและชาลีไม่ขัดขวางการให้ทานของพระเวสสันดร แม้จะให้ตัวเองเป็นทานก็ตาม  (ในจารึกยังใช้ชื่อสันสกฤตคือ กฤษณา และชาลี)
ในจารึก IMA. ๓๑ พ.ศ. ๒๒๒๗ เขียนไว้ว่า ขอมีจิตใจเด็ดเดี่ยวในการให้ทานดุจพระ เวสันดรเทอญ  และในจารึก IMA. ๓๘ พ.ศ. ๒๒๔๔ เขียนเป็นกาพย์ภาษาเขมรว่า ข้าพเจ้าขอให้ได้ให้ทาน ดุจพระมุนีพระไวสันดรกับนางเมทรีย์ ให้ทานชาลีกรสนานั้น (ในจารึกยังใช้ชื่อสันสกฤตคือ ไวสันดร เมทรีย์ กฤษณา และชาลี) 
นอกจากนั้นยังมีคำจารึกที่กล่าวถึงการถวายคัมภีร์ พระอภิธรรมมหาชาติ น่าจะเป็นคัมภีร์พระอภิธรรมและคัมภีร์มหาชาติคือเวสสันดรชาดกด้วย
          จากข้อความในจารึก แม้จะไม่ได้บอกเล่ารายละเอียดว่า กัมพูชาสมัยหลังพระนครซึ่งตรงกับสมัยอยุธยาของไทย มีการเทศน์มหาชาติด้วยหรือไม่ หรือมีการเทศน์อย่างไร แต่เมื่อกล่าวถึงการถวายคัมภีร์มหาชาติ และข้อความที่แสดงถึงการบำเพ็ญทานบารมีของพระเวสสันดร ก็แสดงให้เห็นว่าสังคมในสมัยนั้นน่าจะมีการรับรู้ถึงเรื่องราวของเวสสันดรชาดกในระดับกว้างพอสมควร

เวสสันดรชาดกเขมรสมัยฝรั่งเศสปกครองและสมัยสังคมราษฎร์นิยม 
          กัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๐๗ ได้รับเอกราชเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ และหลังจากนั้นเมื่อสมเด็จพระนโรดดม สีหนุ สละราชสมบัติ เพื่อมาดำเนินนโยบายทางการเมือง ก่อตั้งพรรคสังคมราษฎร์นิยมขึ้น และได้รับเลือกตั้งให้มีอำนาจปกครองประเทศตลอดมาจนถึง พ.ศ. ๒๕๑๓ นักประวัติศาสตร์กัมพูชาจึงเรียกสมัยนี้ว่า สมัยสังคมราษฎร์นิยม
ในหนังสือพระราชพิธีทวาทศมาส ภาคที่ ๓[3] ซึ่งจัดพิมพ์โดยพุทธศาสนบัณฑิตย์ของกัมพูชา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๓ ได้เล่าถึงพระราชพิธีในพระราชสำนักตั้งแต่สมัยพระองค์ด้วง ก่อนที่ฝรั่งเศสจะยึดครองกัมพูชา และสมัยพระนโรดดม ซึ่งกัมพูชาตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์ว่า ในพระบรมราชวังนั้น ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน อัสยุช (เดือน ๑๑) ของทุกปี เวลา ๑๗.๐๐ น. จะนิมนต์พระธรรมกถึก ๑ รูป เข้าไปเทศนาคาถาพัน คือคัมภีร์มหาชาติภาษาบาลีที่มีอยู่ ๑,๐๐๐ พระคาถา ซึ่งเป็นเรื่องราวของพระเวสสันดร และนิมนต์พระอีก ๔  รูปสวดรับสัพพี ทั้งนี้จัดให้มีการเทศนาในพระวิมานจักรพรรดิ (หอพระ) ในพระที่นั่งเทวาวินิจฉัย ด้านตะวันตกพระมหาเศวตฉัตร พร้อมทั้งได้อธิบายถึงเครื่องบูชา เครื่องประกอบพิธีต่างๆ ที่จัดภายในพระบรมราชวัง
          เอกสารนี้ยังได้เล่าถึงการจัดงานเทศน์มหาชาติ (เขมรเขียนว่า มหาชาตก์) ของราษฎรทั้งหลายด้วยว่า จัดแตกต่างจากในวัง เพราะในวังจะเทศน์เป็นภาษาบาลีล้วนๆ เรียกว่า คาถาพัน และมีเนื้อความย่อๆ ส่วนของราษฎรนั้นเทศน์เป็นภาษาเขมร มีเนื้อหาละเอียดพิสดาร เรียกว่า  มหาชาตก์  ส่วนเรื่องการกำหนดวันเทศน์นั้น นิยมวันเพ็ญเดือน ๑๑ หรือไม่ก็วันแรม ๑๔ ค่ำเดือน ๑๑ ก็ได้แล้วแต่โอกาส  ถ้าจะมีการเทศน์วันเพ็ญเดือน ๑๑ จะมีการจับสลากวันเพ็ญเดือน ๑๐ คือก่อนวันเทศน์ ๑ เดือน เพื่อจะให้ชาวบ้านได้รู้ว่า ตนเองหรือกลุ่มของตนเองจับได้มหาชาติกัณฑ์ไหน และพระผู้เทศน์เป็นพระสงฆ์รูปใด จะได้เตรียมไทยธรรมบูชากัณฑ์เทศน์และถวายพระได้อย่างเหมาะสม
          ส่วนเจ้าอธิการวัด ก็กำหนดตัวพระภิกษุที่จะต้องเทศน์กัณฑ์ต่างๆ ให้เหมาะสม เมื่อได้กัณฑ์ที่ตัวเองรับผิดชอบแล้ว พระภิกษุเหล่านั้น ก็จะไปฝึกเทศน์ทั้งคำบาลีทั้งคำร่ายให้คล่องปาก เพราะเวลาเทศน์จริงๆ จะได้น่าฟัง และรวดเร็ว เพราะต้องเทศน์ทั้ง ๑๓ กัณฑ์ให้เสร็จก่อนตะวันตกดินด้วย ทั้งนี้จัดว่า งานเทศน์มหาชาติในสมัยนั้น เป็นงานใหญ่ ถือเป็นหน้าเป็นตาของหมู่บ้านและวัดด้วย
          ในคำนำหนังสือ เวสสันดรชาดก โดยหลวงนิพนธ์มนตรี (ญุก แถม) ได้พิมพ์เผยแพร่เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ว่า ธรรมเนียมของเขมรตั้งแต่โบราณมา เมื่อออกพรรษาแล้ว แทบจะทุกวัดจัดให้มีการเทศนามหาชาตก์ เรื่องเวสสันดรชาดก เป็นงานยิ่งใหญ่อึกทึกครึกโครม เพิ่งจะเมื่อ ๒๐ ปีที่ผ่านมานี้ (ประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๐) ธรรมเนียมการเทศนามหาชาตก์ค่อยๆ เลือนหายไป   บางวัดจัดบ้างไม่จัดบ้าง บางแห่งเลิกจัดไปเลยก็มี แม้ว่าจะมีบางวัดจัดงานบุญเทศนามหาชาตก์ แต่ก็ไม่ได้ยิ่งใหญ่เหมือนเมื่อก่อนแล้ว บ้างก็ทำแต่พอเป็นพิธี จะหาคนรู้เรื่องเวสสันดรชาดกเหมือนเมื่อก่อนก็หายากเต็มที เด็กๆ บางคนแทบจะไม่รู้หรือไม่เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับเวสสันดรชาดกเลยด้วยซ้ำ
          นักปราชญ์เมื่อก่อนได้พยายามแปลเนื้อเรื่องจากภาษาบาลีให้เป็นภาษาเขมร ให้ได้ใจความครบถ้วนสมบูรณ์ และแต่งเติมถ้อยคำสำเนียงให้สละสลวย ให้คนสามารถนั่งฟังด้วยความเพลิดเพลินทั้งวันได้ แต่ต่อมามีการเขียนหรือเสริมแต่งผิดเพี้ยนไปเป็นอันมาก เมื่อจะมีการตีพิมพ์เวสสันดรชาดกเป็นหนังสือ จึงมีการรวบรวมคัมภีร์ใบลานเรื่องเวสสันดรชาดกจากวัดต่างๆ นำมาเปรียบเทียบกัน และชำระภาษาบาลีให้ถูกต้อง ส่วนที่เป็นภาษาเขมร เนื่องจากมีหลายสำนวนจึงเลือกเอาสำนวนที่ดีที่สุดมาพิมพ์เป็นเล่ม

เวสสันดรชาดกในกัมพูชาปัจจุบัน
          กัมพูชาผ่านศึกสงครามตลอดมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๓ พลเอกลน นล (ไทยนิยมเขียนเป็น ลอน นอล) ได้ปฏิวัติรัฐประหารรัฐบาลของสมเด็จพระนโรดดม สีหนุ ทำให้สมเด็จสีหนุเรียกร้องคนในประเทศให้ลุกขึ้นต่อสู้กับรัฐบาล มีการต่อสู้กันในประเทศอย่างรุนแรง จนถึง พ.ศ. ๒๕๑๘ เมื่อเขมรแดงเข้ายึดประเทศได้ จัดเป็นยุคแห่งการสร้างสังคมใหม่ ห้ามนับถือศาสนา ห้ามทำกิจกรรมทางศาสนาทั้งหมด หนังสือความรู้ต่างๆ รวมถึงคัมภีร์ใบลานถูกทำลายทิ้งเป็นจำนวนมาก ต่อมาเขมรแดงพ่ายแพ้ต่อกองกำลังของเฮง สัมรินซึ่งมีเวียดนามสนับสนุน ทำให้รัฐบาลเฮง สัมรินขึ้นมามีอำนาจ แม้รัฐบาลใหม่จะอนุญาตให้นับถือศาสนาได้เหมือนเดิม แต่คัมภีร์และหนังสือทางศาสนา รวมทั้งวัดวาอารามต่างๆ ถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ผู้มีความรู้ก็สูญเสียชีวิตไปมากมายเช่นเดียวกัน พระ เณร เถร ชี ก็ต้องกลับมาบวชใหม่ ความรู้ต่างๆ ที่ถ่ายทอดต่อกันมาก็พลอยขาดช่วงไปด้วย
          ปัจจุบันกัมพูชาเริ่มฟื้นฟูวิถีชีวิตให้กลับไปรุ่งเรืองและสงบสุขเหมือนดังอดีต วัฒนธรรม ประเพณีต่างๆ ได้ถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ มีการรวบรวมคัมภีร์ใบลานที่ยังหลงเหลือนำมาศึกษาค้นคว้า รวมทั้งได้รวบรวมหนังสือความรู้ต่างๆ นำมาพิมพ์ใหม่เพื่อให้อนุชนที่เกิดภายหลังสงครามได้เข้าใจถึงวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีชีวิตที่ดีงามในอดีต
          การเทศน์มหาชาติเรื่อง เวสสันดรชาดก ก็เช่นเดียวกัน ปัจจุบันก็มีการเทศน์บ้าง เพียงแต่ว่ายังไม่ค่อยแพร่หลายเท่าที่ควร หมู่บ้านใด วัดใด พอมีกำลังจัด ก็จัดกันไปตามอัธยาศัย ตามกำลังทรัพย์และกำลังศรัทธา ส่วนความเชื่อว่าถ้าได้ฟังเวสสันดรชาดกครบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ภายในวันเดียว จะได้ไปเกิดในศาสนาพระศรีอาริย์ก็ยังมีอยู่เช่นเดียวกับความเชื่อของชาวไทย







บรรณานุกรม
ฌึม ทูจ. สังเขปทสชาตก์. (ภาษาเขมร) พนมเปญ: พุทธศาสนบัณฑิตย์, ๒๕๐๒.
นิพนธ์มนตรี,หลวง(ญุก แถม). มหาเวสสันดรชาดก. (ภาษาเขมร) พนมเปญ: พุทธศาสน-
บัณฑิตย์, ๒๕๑๓.
พระราชพิธีทวาทศมาส ภาคที่ ๓ (ภาษาเขมร). พนมเปญ: พุทธศาสนบัณฑิตย์, ๒๕๐๓.
อุไรศรี วรศะริน. จารึกนครวัดสมัยหลังพระนคร. กรุงเทพ: จงเจริญการพิมพ์. ๒๕๔๒.


[1] อ่านข้อมูลรายละเอียดเรื่องนี้ได้ที่ http://www.khmerenaissance.info/heritage_history/๐๐๕_jutaka.html
[2] IMA. เป็นคำย่อมาจาก  Inscriptions Modernes d’Angkor  ภาษาไทยใช้ว่า  จารึกสมัยหลังพระนคร.
[3] พระราชพิธีทวาทศมาส ภาคที่ ๓. (ภาษาเขมร) (พนมเปญ: พุทธศาสนบัณฑิตย์, ๒๕๐๓) ๙๕-๙๘.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น